วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นักป่าไม้

การป่าไม้ในเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



การป่าไม้ในเมือง (urban forestry) หมายถึงการดูแลและจัดการต้นไม้ใหญ่ (trees) ทั้งหลายที่ขึ้นอยู่ในเขตเมืองเพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองให้ดีขึ้น การป่าไม้ในเมืองเป็นสิ่งสนุบสนุนบทบาทของต้นไม้ในฐานะเป็นองค์ประกอบหลักของโครงสร้างพื้นฐานของเมือง นักการป่าไม้ในเมืองทำหน้าที่ปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ ใหการสนับสนุนการอนุรักษ์ต้นไม้และป่า ส่งเสริมให้มีการวิจัยและแสดงให้สาธารณชนเล็งเป็นคุณประโยชน์ของต้นไม้ที่มีอยู่มากมายแก่มนุษย์ การป่าไม้ในเมืองปฏิบัติโดยรุกขกร (arborist) ของเทศบาลหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและโดยรุกขกรภาคเอกชน รวมทั้งรุกขกรสาธารณูปโภค (utility arborists) นอกจากนี้ยังมีผู้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการรุกขกรรมหรือการป่าไม้ในเมืองอีกหลายฝ่ายได้แก่ ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม นักผังเมือง ที่ปรึกษา นักการศึกษา นักวิจัยและนักรณรงค์ในชุมชน

ความท้าทายของการป่าไม้ในเมือง


การป่าไม้ในเมืองเป็นวิชาชีพภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ใหญ่ การดูแลและการปกปักษ์รักษา รวมทั้งการจัดการโดยรวมในฐานะที่ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของชาติ สภาพแวดล้อมในชุมชนเมืองมีส่วนท้าทายทางรุกขกรรมด้วยข้อจำกัดของเนื้อที่สำหรับระบบรากและเนื้อที่สำหรับการแผ่กิ่งก้านสาขา คุณภาพของดินที่เลว น้ำและปริมาณของแสงสว่างที่มีจำกัด ความร้อน มลพิษ ความเสียหายที่จะมีต่อต้นไม้ทั้งทางกลและสารเคมี รวมทั้งอันตรายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพของต้นไม้อีกนานับชนิด



ความท้าทายในด้านการจัดการยังรวมไปถึงการดูแลรักษาตัวต้นไม้ใหญ่และบริเวณที่ปลูกจะต้องมีการวางระบบระเบียนต้นไม้ จัดการให้ต้นไม้เกิดประโย ชน์สูงสุด ลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำสุด ประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ประชาชนให้การสนับสนุนและร่วมสร้างกองทุน ช่วยกันออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติหรือนโยบายส่งเสริมให้มีการปลูกและดูแลต้นไม้ใกญ่ทั้งในที่สาธารณะและที่ดินเอกชน



 ประโยชน์ของการป่าไม้ในเมือง

คุณประโยชน์ของต้นไม้ใหญ่ในเมืองนั้นมีมากมายซึ่งรวมถึงความสวยงาม การลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (urban heat island) การลดปริมาณการระบายน้ำฝนของเมือง การลดมลพิษทางอากาศ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานด้วยการเพิ่มเงาต้นไม้กำบังอาคารให้มากขึ้น การเพิ่มมูลค่าทางราคาแก่อสังหาริมทรัพย์ ช่วยเพิ่มที่พักพิงแก่สัตว์ต่างๆ ตลอดการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวมให้แก่เมืองได้มาก



 คุณประโยชน์ด้านสุนทรียภาพ

ต้นไม้ใหญ่ให้สีสัน ผิวสัมผัสและความเปรียบต่างที่ทำให้สิ่งแข็งที่เป็นรูปเหลี่ยมทรงเรขาคณิตในภูมิทัศน์เมืองให้แลดูอ่อนนุ่ม ต้นไม้ใหญ่สามารถประกอบกันเป็นกรอบช่องมองวิวที่งดงามและอาจเป็นฉากบังวิวหรือสิ่งไม่น่าดูได้ด้วย ดอก สี เปลือก ลำต้น โครงสร้างของกิ่งก้านสาขาที่สง่างามสามารถกระตุ้นให้ผู้มองเกิดความปีติและน่าสนใจ การจัดวางต้นไม้อย่างมีแบบแผนจะช่วยส่งเสริมสัดส่วนของงานสถาปัตยกรรมและเสริมขนาดส่วนของเนื้อที่ใช้สอยภายนอกอาคารให้ดีขึ้น



 สังคม จิตวิทยา นันทนาการ สัตว์พักพิง

การมีต้นไม้อยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดความเครียดแก่มนุษย์จากการทำงานประจำวันได้ เป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่าต้นไม้ให้คุณประโยชน์แก่สุขภาพและจิตใจแก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเมือง ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวอื่นๆ ในชุมชนเมืองคือสถานที่ที่มนุษย์ใช้เป็นที่พบปะสังสรรทางสังคมและเพื่อการพักผ่อน และก็เช่นเดียวกันการออกแบบจัดวางที่ดีและการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนอย่างมากในผลสำเร็จ



ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเป็นอาศัยพักพิงสำหรับนกทำรังกกไข่และเป็นที่อาศัยขยายพันธุ์และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์เมืองอีกหลายขนิด มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รวมตัวเป็นชมรมศึกษาเฝ้าดู ให้อาหาร ถ่ายภาพ และเขียนภาพต้นไม้ใหญ่และสัตว์ที่มีประจำตามต้นไม้ใหญ่ในชุมชน ต้นไม้ใหญ่ในเมืองและสัตว์ประจำถิ่นเมืองได้อาศัยพึงพาซึ่งกันและกันมายานจนอยู่ในสภาวะสมดุล



 คุณประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์

คุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจของต้นไม้ใหญ่ในเมืองได้รับการยอมรับมานานแล้ว แต่คุณประโยชน์ดังกล่าวเพิ่งจะได้รับการแจงนับเชิงปริมาณเมื่อเร็วๆ นี้เอง การแจงประโยชน์เชิงปริมาณของต้นไม้ใหญ่ในเมืองช่วยใหสาธารณชนชั่งใจและตัดสินใจให้ความเห็นชอบในด้านค่าใช้จ่ายหรือยอมให้จัดตั้งงบประมาณเพื่อการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในแง่เศรษฐกิจได้แก่การปลูกต้นไม้ใหญ่ประเภทผลัดใบที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอาคาร เงาของทรงพุ่มจะบังความร้อนจากแสงแดดที่ร้อนจัดในฤดูร้อน และเมื่อถึงฤดูหนาวต้นไม้ที่ทิ้งใบทั้งหมดจะปล่อยให้แสดงแดดทลุมาประทะผนังให้ความอบอุ่นแก่อาคารคิดเป็นเงินค่าประหยัดพลังงานได้มากมาย นอกจากนี้กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯ ยังได้รายงานผลการวิจัยว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองมีส่วนช่วยในธุรกิจเฟื่องฟูเนื่องจากคนจะใช้เวลาในการเดินจับจ่ายในมอลล์นานขึ้น อาคารอพาร์ตเมนต์ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่จะปล่อยเช่าได้หมดเร้วกว่าอพาร์ตเมนต์ที่แห้งแล้งปราศจากต้นไม้ นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เช่าอยู่นานขึ้น มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ร่มครึ้มสวยงามด้วยต้นไม้สูงกว่าที่แห้งแล้ง นอกจากนี้ยังพบว่าต้นไม้ใหญ่ยังมีส่วนช่วยให้นักธุรกิจตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในโครงการใหม่ได้เร็วขึ้น ผลกระทบทางกายภาพของต้นไม้ใหญ่อันได้แก่การให้ร่มเงา การควบคุมความชื้น การควบคุมทิศทางและความเร็วลม การควบคุมการชะล้างพังทลาย การให้ความเย็นจากการคายน้ำ การบรรเทาเสียงรบกวนและการบังสายตา การควบคุมการจราจร การดูดซับมลพิษ รวมทั้งการควบคุมหรือบรรเทาฝน ฯลฯ ผลกระทบต่างๆ ดังกล่าวนี้สามารถนับเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น



การลดมลพิษในอากาศ

เมืองต่างๆ ในโลกกำลังดิ้นรนและพยายามอย่างมากที่จะทำให้อากาศในเมืองของตนมีคุณภาพได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามบทบาทและขีดความสามารถของต้นไม้ใหญ่ที่จะช่วยปัญหาเหล่านี้ได้ มลพิษที่เป็นอันตรายมากในบรรยากาศของเมืองได้แก่โอโซน ไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) ซัลฟูริกออกไซด์ (SOX) และอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นพิษ กาซโอโซนที่ระดับพื้นดินหรือหมอกควัน (smog) เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่าง Nox และสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยไว (volatile organic compounds -VOCs) เมื่อถูกแสงแดด นอกจากนี้ความร้อนที่เพิ่มยังช่วยเร่งปฏิกิริยานี้ให้เกิดเร็วขึ้น การปล่อยไอเสียของรถยนต์ ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอจากน้ำมันเบนซินและสารทำละลายเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งกำเนิดหลักของ NOX และ VOCs อนุภาคมลพิษหรืออนุภาคฝุ่น (PM10 และ PM25) เกิดจากสารแข็งหรือหยดของเหลวที่มีขนาดเล็กมากที่อยูในอากาศที่เราหายใจเข้าไปและตกค้างอยู่ตามเนื้อเยื่อในปอด อนุภาคเหล่านี้สร้างปัญหาด้านสุขภาพกี่ยวกับทางเดินหายใจแก่เรามากที่สุด อนุภาคมลพิษเริ่มจากควันไอเสียเครื่องยนต์เบนซินหรือเขม่าที่ออกจาเครื่องยนต์ดีเซล อนุภาคเหล่านี้เองที่สร้างปัญหาร้ายแรงแก่ผู้ที่เป็นโรคปอดอยู่แล้วทั้งยังเป็นต้นเหตุของโรคแก่ผู้ที่สูดอนุภาคเหล่านี้เข้าไปมาก จึงนับเป็นภัยต่อสุขภาพโดยรวมของประชาชนทั่วไป ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวนี้สามารถลดได้มากด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อดูดซับมลพิษในอากาศ ดักจับอนุภาคและปลดปล่อยออกซิเจนช่วยให้บรรยากาศดีขึ้นได้มาก



ด้วยการปลูกป่าในเมืองด้วยต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง งามและมีจำนวนมากพอจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของอากาศเมืองได้อย่างชัดเจน ต้นไม้ใหญ่สามารถลดอุณหภูมิและลด “ปรากฏการณ์เกาะความร้อน” ที่เกิดในเมืองใหญ่ การช่วยลดอุณหภูมิของบรรยากาศในเมืองลงไม่เป็นเพียงการช่วยประหยัดพลังงานเพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นการช่วยให้คุณภาพของอากาศในเมืองดีขึ้นจากการเกิดโอโซนที่น้อยลงเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำลง



ในขณะที่อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น การเกิดโอโซนก็เพิ่มขึ้น

ป่าไม้ในเมืองที่งามและสมบูรณ์แข็งแรงจะลดอุณหภูมิซึ่งเป็นการลดการเกิดโอโซน

ต้นไม้ให้ร่มเงานขนาดใหญ่สามารถลดอุณหภูมิรวมๆ ภายใต้ร่มเงาได้ระหว่าง 3-50C

การลดอุณหภูมิสูงสุดตอนเที่ยงวันที่มีผลมาจากต้นไม้มีค่าระหว่าง 0.04 °C ถึง 0.2 °C ต่อพื้นที่ 1% ของการแผ่พุ่มใบ

ผลการวิจัยของเขตซาคราเมนโตในแคลิฟอร์เนียปรากฏผลว่าการปลูกต้นไม้ใหญ่ในเมืองเพิ่มอีกเท่าตัวคือรวมได้ 5 ล้านต้นจะสามารถช่วยลดอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนได้ถึง 3 °C และการลดอุณหภูมิในระดับนี้สามารถลดโอโซนลงได้ 7% และลดวันที่มีหมอกควันลงได้ 50%

การลดอุณหภูมิเป็นการลดการปลดปล่อยไอเสียในลานจอดรถได้มาก การลดอุณหภูมิลานจอดรดด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาสามารถลดการระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงของรถที่จอดใต้ร่มไม้ได้มาก ลานจอดรถที่ไม่มีร่มเงาเทียบได้กับ “เกาะความร้อนขนาดเล็ก” ที่อุณหภูมิในลานจอดจะสูงกว่าบริเวณอื่นโดยรอบ ทรงพุ่มของต้นไม้สามารถลดอุณหภูมิในบริเวณลานลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าการปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนส่วนใหญ่จะออกมาจากปลายท่อไอเสียก็จริง แต่จากการศึกษาพบว่าไฮโดรคาร์บอนระเหยออกมาจากระบบส่งจ่ายน้ำมันที่มีอยู่ในระบบเครื่องยนต์ในขณะตากแดดที่ร้อนจัดมากถึง 16% การระเหยแบบนี้ประกอบกับการระเหยจาการติดเครื่องยนต์ใน 2-3 นาทีแรกมีผลอย่างมากต่ออากาศระดับจุลภาคในบริเวณนั้น ดังนั้น ถ้ารถจอดในที่ร่มในลานจอด การระเหยและการปลดปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนจะลดลงได้มาก



รถที่จอดในลานจอดที่ร่ม 50% จะปล่อยน้ำมันเบนซินระเหยน้อยกว่า 8% ของรถที่จอดในที่จอดที่มีที่ร่ม 8%

สืบเนื่องจากคุณประโยชน์ในด้านการลดอุณหภูมิของลานจอดรถด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มที่ทำให้การระเหยของน้ำมันลดลง เมืองเดวิส แคลิฟอร์เนียจึงตราข้อบัญญัติให้ลานจอดรถทุกแห่งต้องมีร่มไม้คลุมไม่น้อยกว่า 50%

ติดเครื่องรถในขณะเครื่องเย็น

องค์ประกอบส่วนระเหยได้ของยางมะตอยที่ใช้ลาดผิวพื้นลานจะระเหยน้อยในลานจอดรถหรือที่จอดริมถนนที่มีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ร่มเงาไม่เพียงแต่จะลดการปลดปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนแต่ยังช่วยลดการยือหดจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดและเย็นสลับกับซ้ำซากทำให้อายุการใช้งานลดลงมากด้วย การดูแลรักษาที่น้อยลงช่วยลดไอระเหยของยางมะตอยที่ต้องลาดซ่อมบ่อยๆ รวมทั้งการปลดปล่อยไอเสียของเครื่องกลหนักที่ใช้ในการนี้ หลักการเดียวกันนี้สามารถใช้กับหลังคาที่ทาด้วยสารยางมะตอย (ฟลิ้นต์โค้ต) ที่คลุมด้วยร่มไม้ใหญ่



 การขจัดมลพิษที่ได้ผล

ต้นไม้ใหญ่สามารถขจัดมลพิษออกจากบรรยากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ปากใบ (Stomata) ซึ่งเป็นรูที่มีอยู่ทั่วไปที่ด้านใต้ของใบไม้ดูดซับก๊าซมลพิษเข้าไปและละลายรวมไปกับน้ำที่มีอยู่ในใบ ต้นไม้บางชนิดอาจอ่อนไหวต่อก๊าซพิษบางชนืด ซึ่งอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตบ้าง การพิจารณาคัดเลือกชนิดของพรรณไม้ที่สามารถดูดซับก๊าซพิษบางชนิดได้ดีกว่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น



การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ได้ทำไปทั่วย่านที่เป็นเขตปกครองของนครชิคาโกอย่างกว้างขวางในปี พ.ศ. 2534 พบว่าต้นไม้ใหญ่สามารถขจัดคาร์บอนโมนอกไซด์ (CO) ได้ 93 ตัน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ได้ 17 ตัน ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ได้ 98 ตันและโอโซน (O3) ได้มากถึง 210 ตันต่อปี



การเก็บกักธาตุคาร์บอน (Carbon sequestration)

ในบางครั้ง ผู้จัดการป่าไม้ในเมืองจะให้ความสำคัญต่อปริมาณของธาตุคาร์บอนที่ถูกดึงออกจากบรรยากาศเข้าไปเก็บกักไว้ในป่าในรูปของเนื้อไม้โดยการปลูกต้นไม้เพิ่มให้เท่ากับปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยจากการใช้เครื่องจักกลในการดูแลจัดการป้าไม้ในเมืองที่จะต้องใช้เชื้อเพลิงหรือไฟฟ้าที่มีต้นตอจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์



 การดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิด

นอกจากการดูดซับก๊าซพิษบางชนิดแล้วต้นไม้ใหญ่ยังทำหน้าที่เป็นตัวกรองและดักจับอนุภาคที่เป็นอันตรายบางชนิดได้ด้วย อนุภาคจะถูกจับโดยผิวของต้นไม้และผิวของพุ่มใบ อนุภาคเหล่านี้จะเกาะติดตามผิวของต้นไม้ชั่วคราวและจะถูกชะล้างโดยน้ำฝนหรือถูกพัดปลิวออกไปโดยลมที่แรง หรือตกสู่พื้นพร้อมกับการร่วงของใบ แม้ต้นไม้จะเป็นตัวช่วยจับอนุภาคไว้ชั่วคราวก็จริง แต่ข้อดีของมันก็คือการลดปริมาณของอนุภาคมลพิษขนาดเล็กมากที่จะต้องล่องลอยในอากาศเข้าสู่ปอดของมนุษย์โดยตรง ยิ่งมีต้นไม้มากเท่าใดอนุภาคมลพิษที่ล่งลอยในอากาศก็จะลดและเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยลงเท่านั้น



ต้นไม้ใหญ๋ใบกว้างที่มีพุ่มใบแน่นทำหน้าที่ดักจับอนุภาคมลพิษได้มากที่สุด

การศึกษาที่นครชิคาโกในปี พ.ศ. 2534 พิสูจน์ให้เห็นว่าต้นไม้ใหญ่สามารถดักจับอนุภาคมลพิษขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตรได้ถึงปีละ 234 ตัน

ต้นไม้ใหญ่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 เซนติเมตร สามารถขจัดอนุภาคมลพิษได้มากเป็น 70 เท่า (1.4 กก./ปี) ของต้นไม้ชนิดเดียวกันที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 10 เซนติเมตร (0.02 กก./ปี)

การระเหยของสารประกอบอินทรีย์จากหินชีวภาพ (Biogenic)

สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งในการประเมินผลกระทบของการป่าไม้ในเมืองที่มีต่อคุณภาพของอากาศได้แก่การปล่อยสารระเหยที่เป็นสารประกอบอินทรีย์ (biogenic volatile organic compounds -BVOCs) นั่นคือสารเคมีบางชนิดที่ส่วนใหญ่คือ ไอโซพรีน (isoprene) และโมโนเทอร์พีนส์ (monoterpenes) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำมันหอมระเหยและยางไม้ รวมทั้งสารอินทรีย์อื่นที่ต้นไม้ใช้ล่อแมลงให้มาผสมเกษรหรือใช้สำหรับไล่แมลงหรือสัตว์บางชนิด จากการศึกษาพบว่าสารอินทรีย์ต่างๆ ที่ต้นไม้สังเคราะห์เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะดังกล่าวสามารถรวมตัวกับไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) กลายเป็นโอโซนที่เป็นตัวการทำให้เกิดหมอกควันได้ อย่างไรก็ดี การเกิดโอโซนโดยวิธีนี้นับว่าน้อยมาก โดยมากที่สุดจะไม่เกิน 10%



มีต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่มีผลต่อการเกิดโอโซนดังกล่าว ในสหรัฐฯ มีต้นไม้ที่สร้างสารไอโซพรีนมากได้แก่ต้นสน (Casuarina) ยูคาลิปตัส สวีทกัม (Liquidambar) แบล็กกัม (Nyssa) เพลนทรี (Platanus) ป็อบปลา โอ๊กหรือก่อ แบล็กโลคัส หรือพวกสีเสียด (Robinia) หลิว สำหรับประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการศึกษาวิจัยในด้านนี้ที่สามารถอ้างอิงได้



ต้นไม้ที่สามารถปรับตัวและตอบสนองขึ้นได้ดีในสภาพแวดล้อมนั้นๆ อยู่แล้วแต่มีการปล่อยสารระเหยอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโอโซนได้ดังกล่าวก็ไม่ควรด่วนโค่นหรือขุดย้ายไปที่อื่น การเอาต้นไม้ที่ปล่อยสารระเหยน้อยกว่ามาปลูกแทนอาจขึ้นไม่ได้ดีเท่าต้นเดิม การชั่งน้ำหนักจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการปล่อยสารระเหยอินทรีย์ไม่ได้มากและเป็นอันตรายเกินอัตราเมื่อเทียบกับสารที่ระเหยจากรถยนต์และจากยางมะตอยที่ตากแดด



ไม่ควรติดป้ายว่าต้นไม้เป็นตัวสร้างมลพิษทั้งนี้เนื่องจากคุณประโยชน์โดยรวมที่มันให้แก่สิ่งแวดล้อมมีมากกว่าข้อเสียในการมีส่วนสร้างโอโซนอันเล็กน้อยนั้น ปกติการเกิดโอโซนจากสารระเหย BVOCs นั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ร้อน ดังนั้น การปลูกต้นไม่ใหญ่ให้ร่มมากๆ จึงเป็นการลดอุณหภูมิ โอโซนจึงเกิดน้อยไปด้วย



ผลกระทบของการป่าไม้ในเมืองที่มีต่อการเกิดโอโซนเพิ่งถูกค้นพบและเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์เมื่อเร้วๆ นี้เอง การวิจัยยังคงต้องดำเนินการต่ออีกมากเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ได้มีการศึกษาที่ได้ข้อสรุปเชิงปริมาณเกี่ยวกับผลกระทบของการปลดปล่อยสารระเหย BVOC ที่มีผลต่อการเกิดโอโซนแล้วอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบที่จะเกิดโดยตรงต่อการป่าไม้ในเมืองยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปริมาณสารระเหยอินทรีย์จากต้นไม้มีปริมาณที่แน่ขัดเท่าใดที่จะทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์แล้วเกิดโอโซนที่จะทำให้เกิดหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมในชุมชนได้ ดังนั้นจึงควรรีบดำเนินการวิจัยต่อให้ทราบผลชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจโค่นต้นไม้ที่ปล่อยสารระเหยอินทรีย์ดังกล่าว



การป่าไม้ในเมืองในสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา นโยบายของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการป่าไม้ในเมืองดูแลโดยกรมป่าไม้ เกระทรวงกษตราธิการ (USDA Forest Service) งานส่วนใหญ่ภาคสนามดำเนินการโดยกองทุนไม่แสวงกำไรที่ได้รับเงินจากการบริจาคของประชาชนทั่วไปร่วมกับการสมทบจากงบประมาณของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น



นโยบายว่าด้วยการป่าไม้ในเมืองของสหรัฐนับว่ามีอุปสรรคน้อยได้รับการยอมรับจากทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมากพอสมควร ผิดกับนโยบายทรัพยากรการป่าไม้อื่นที่มีผลประโยชน์ที่แย่งชิงป่าไม้ของชาติที่ทาบซ้อนในพื้นที่ของรัฐต่างๆ



การป่าไม้ในเมืองของประเทศไทย

การรณรงค์ปลูกต้นไม้ในเมืองมีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถ์เลขาพระราชทานเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ทรงให้คำแนะนำและมีพระกระแสรับสั่งกำหนดชนิดต้นไม้และตำแหน่งปลูกรวมทั้งวิธีการปลูกโดยละเอียด ทรงรู้จักต้นไม้มากกว่า 90 ชนิด แต่การรณรงค์ของพระองค์มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่มรื่นสวยงาม ด้วยในยุคนั้นอากาศในกรุงเทพฯยังไม่มีมลพิษเท่าปัจจุบัน



หน้าที่การปลูกต้นไม้เป็นหน้าที่ของกรมนคราทรซึ่งต่อมาตกเป็นหน้าที่ของ กรุงเทพมหานคร ส่วนเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรตกเป็นหน้าที่ของเทศบาล ซึ่งการปลูกต้นไม้ในเมืองทั้งหมดเป็นการปลูกเพื่อความสวยงามและความร่มรื่นเป็นสำคัญ



ผลของการพัฒนาเมืองที่แออัดและการติดขัดของการจราจรทำให้เกิดปัญหามลพิษรุนแรงขึ้น การปลูกต้นไม้ใหญ่จึงเริ่มมามองในด้านการช่วยบรรเทามลพิษทางอาอาศและการจับฝุ่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมทั้งกรมป่าไม้ได้เริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับความสามารถของต้นไม้ในเชิงการดูดซับก๊าซพิษและโลหะหนักมากขึ้น



ปัจจุบัน กรมป่าไม้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและจัดตั้งหน่วยงานการป่าไม้เมืองขึ้นโดยขยายงานจากสำนักงานจัดการป่าชุมชนที่เน้นด้านเศรษฐกิจและสังคม มาเน้นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง



 อ้างอิง

พระราชหัตถ์เลขาสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชทานเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ (พ.ศ. 2438-2453) พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนางหอมหวน สุริยคำ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 29 มิถุนายน พ.ศ. 2528

เดชา บุญค้ำ ต้นไม้ใหญ่ในการก่อสร้างและพัฒนาเมือง สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ 2543

Nowak, D. (2000). Tree Species Selection, Design, and Management to Improve Air Quality Construction Technology. Annual meeting proceedings of the American Society of Landscape Architects (available online, pdf file).

Nowak, D. The Effects of Urban Trees on Air Quality USDA Forest Service (available online, pdf file).

Nowak, D. (1995). Trees Pollute? A "Tree Explains It All". Proceedings of the 7th National Urban Forest Conference (available online, pdf file).

Nowak, D. (1993). Plant Chemical Emissions. Miniature Roseworld 10 (1) (available online, pdf file).

Nowak, D. & Wheeler, J. Program Assistant, ICLEI. February 2006.

McPherson, E. G. & Simpson, J. R. (2000). Reducing Air Pollution Through Urban Forestry. Proceedings of the 48th meeting of California Pest Council (available online, pdf file).

McPherson, E. G., Simpson, J. R. & Scott, K. (2002). Actualizing Microclimate and Air Quality Benefits with Parking Lot Shade Ordinances. Wetter und Leben 4: 98 (available online, pdf file).

Hanson, Michael L.(1990). Urban & Community Forestry, a Guide for the Interior Western United States, USDA Forest Service, Intermountain Region, Ogden, Utah.



รุกขกรรม

en:Arboriculture

en:Forestry

en:Silviculture

en:Planting strategy

การป่าไม้

ภูมิสถาปัตยกรรม

พืชสวน

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ


 แหล่งข้อมูลอื่น

องค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ในเมือง

กรมป่าไม้ไทย

Society of American Foresters

Alliance for Community Trees

International Society of Arboriculture

American Forests

TreeLink

Trees Are Good

TREE Fund

Casey Trees Endowment Fund

Tree City USA Program

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น